3D Printer การติดตั้งและเรียนรู้

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วถอย 3D Printer มาหนึ่งตัวครับ จุดประสงค์คืออยากเอามาทำพวกกล่องใส่ชุดคิตต่างๆ และทำชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้กับสายอากาศ และอื่นๆ อีกมากมายตามความคิดไอเดียที่จะมี ไม่รอช้าไปค้นหา 3D Printer รุ่นต่างๆ ใน Lazada ตลอดจนดูรีวิวใน youtube จนมาจบในรุ่นนี้ครับ

สินค้าจากร้าน 3D Printer Korat รอสามวัน Printer ก็เดินทางมาถึง

บรรจุกล่องมาอย่างดี พร้อมแกะดูข้างใน

เริ่มประกอบกันเลยครับ แกะกล่องออกมาก็พบชิ้นส่วนต่างๆ ของ 3D Printer คนรีวิวถึงขั้นร้อง ว้าววว …

มีคู่มือภาษาไทยให้มาด้วย บอกขั้นตอนวิธีประกอบ และชิ้นส่วนต่างๆ ครบถ้วนครับ

เริ่มลงมือประกอบกันเลย ตามขั้นตอนในคู่มือ ก็ไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ แต่ต้องอาศัยทักษะเชิงช่างบ้างเล็กน้อยในเรื่องของการเลือกขนาด hex screw แต่บนซองในแต่ละถุงก็จะมีข้อมูลบอกอยู่แล้วแค่อาศัยการสังเกตนิดหน่อย จะว่าไปก็เหมือนการประกอบเลโก้ครับ

อ่านคู่มือไปด้วย ประกอบไปด้วย

ประกอบเสร็จแล้วครับ หน้าตาออกมาประมาณนี้

ส่วนการปรับแต่ง และทดสอบ ก็จะไปยุ่งยากตอนทำ จัด align แผ่นเพลทด้านล่างเพื่อให้ได้ระนาบเดียวกันหมดทั้งแผ่น โดยวิธีการใช้กระดาษ A4 รอง แล้วให้หัวปรินต์ลงมาประกบพอดีกับกระดาษ A4 ในแต่ละมุมประมาณ 5 จุด ซึ่งก็ใช้เวลาปรับอยู่สักพักกว่าจะเข้าที่ได้

ขั้นตอนต่อไปก็คือการใส่ Filament หรือเส้นสำหรับพิมพ์ ซึ่งม้วนนี้ก็ตกประมาณ 400 กว่าบาท ขนาด 1 กิโลกรัมครับ ผมเลือกสีส้มมาเพราะสีมันจัดจ้านดี

ประกอบติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ผมยกเครื่องขึ้นไปไว้บนบ้านชั้นสอง เพื่อไม่ให้มีใครมารบกวนเวลาเครื่องทำงาน และใกล้ๆ หน้าต่างเพื่อคอยระบายอากาศ ทั้งความร้อนของตัวเครื่อง และความร้อนของเส้นพลาสติกในการพิมพ์เพื่อไม่ให้เป็นอันตายต่อคนรอบข้าง

หลังจากนั้นก็ทดลอง Print เลยครับ โดยไปดาวน์โหลดไฟล์ตัวอย่างมาจากเว็บ https://www.thingiverse.com/thing:2879047 ซึ่งในเว็บนี้ก็จะมีตัวอย่างไฟล์ 3D Print ต่างๆ ให้เราดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรีๆ หลายตัวครับ

หลังจากนั้นใช้โปรแกรม Cura ปรับแต่ง เพื่อกำหนดขนาด Scale ของตัวชิ้นงานที่เราจะ print กันครับ เพราะยิ่งขนาดใหญ่ ก็ใช้เวลานาน แต่เป็นการทดสอบครั้งแรกผมเลยเอาตัวเล็กๆ Scale ขนาดประมาณ 35 mm ความสูง และโปรแกรม ก็คำนวณเวลาที่ใช้ในการพิมพ์ไปประมาณ 22 นาที

พร้อมแล้วก็เปิดเครื่อง เทสระบบต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนครับ จากภาพเป็นการอุ่นแผ่น plate และหัวปรินท์ให้ได้ความร้อนตามที่กำหนด

หลังจากนั้นทดสอบ Print เลยครับ หน้าตาก็ออกมาประมาณนี้

จบแล้วครับ ตอนต่อๆ ไปถ้าผมเริ่มมีการสร้าง 3d print รูปทรงต่างๆ ออกมา เดี๋ยวจะเอามาแชร์ให้ดูกันอีกครั้งครับ ขอบคุณครับ

Leave a Comment